Sunday, February 17, 2019

การประเมินพัฒนาการตามสภาพจริง 2



ส่งครั้งที่ 2
การประเมินพัฒนาการของเด็กระดับชั้นอนุบาลตามสภาพจริง

การประเมินตามสภาพจริงหรือ (authentic assessment) เป็นการประเมินการเรียนรู้จากข้อมูลเชิงประจักษ์ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่มาจากผลงานจริงของผู้เรียนกระบวนการกระทำที่เป็นการคิดและการปฏิบัติจริงของผู้เรียนเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง ค. ศ. 1984 (พ. ศ. 2527) การพัฒนาการประเมินตามสภาพจริงมีเจตนาเพื่อมาใช้แทนการทดสอบมาตรฐานการศึกษาแนวทางได้ทำอย่างหลากหลายในหลายรัฐโดยเริ่มจากการประเมินด้านการเขียนจากการติดตามศึกษาวิธีการประเมินจากเด็กผู้ปกครองและครูได้ข้อสรุปตรงกันว่าการประเมินตามสภาพจริงสามารถช่วยในการพัฒนาความเจริญงอกงามของเด็กได้ตรงและสอดคล้องกับการสอนอย่างแท้จริง 
หลักการและแนวคิดของการประเมินตามสภาพจริง
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 26 ได้กำหนดถึงการประเมินผลผู้เรียนว่า ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอน
ดังนั้นการประเมินผลการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนจึงเป็นหน้าที่ของผู้สอน โดยถือว่าการประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนเพื่อใช้เป็นกลไกในการติดตาม พัฒนาและช่วยเหลือผู้เรียนให้พัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ให้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ได้ระบุว่า การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องวัดและประเมินให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งในส่วนของกระบวนการและผลงานทั้งด้านความรู้ความรู้สึก และทักษะการแสดงออกทุกด้าน และเป็นการประเมินตามสภาพจริง
สำหรับการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยนั้นได้นำหลักการดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการประเมินของผู้เรียน ดังปรากฏในเอกสารหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ที่ระบุถึงหลักการประเมินพัฒนาการทางเด็กปฐมวัย อายุ 3 – 5 ปี ว่า เป็นการประเมินพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาของเด็ก โดยถือเป็นกระบวนการต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติที่จัดให้เด็กในแต่ละวัน ทั้งนี้ให้มุ่งนำข้อมูลการประเมินมาพิจารณา ปรับปรุง วางแผนการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาตามจุดหมายของหลักสูตร โดยยึดหลักดังนี้
1. ประเมินพัฒนาการครบทุกด้านและนำผลมาพัฒนาเด็ก
2. ประเมินเป็นรายบุคคล อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องตลอดปี
3. สภาพการประเมินควรมีลักษณะเช่นเดียวกับการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน
4. ประเมินอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน เลือกใช้เครื่องมือและจดบันทึกไว้เป็น หลักฐาน

5. ประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะกับเด็ก รวมทั้งใช้แหล่งข้อมูลหลาย ๆ ด้าน
จากหลักการเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวิธีการประเมินผู้เรียนที่ให้ความสำคัญต่อการประเมินอย่างรอบด้าน และเป็นการประเมินที่จัดอยู่ในกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติ ซึ่งวิธีนี้เรียกว่าเป็นการประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ได้ข้อมูลของผู้เรียนตามความจริงที่ปรากฏในขณะนั้น 
ความหมายและความสำคัญของการประเมินตามสภาพจริง
นักวิชาการด้านการประเมินผลได้ให้ความหมายของการประเมินตามสภาพจริงไว้ดังนี้
ศิริชัย กาญจนวาสี (2546 : 13) ให้ความหมายว่า การประเมินตามสภาพจริง (authentic assessment)  เป็นกระบวนการตัดสินความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียนในสภาพที่สอดคล้องกับชีวิตจริง โดยใช้เรื่องราว เหตุการณ์สภาพจริง หรือคล้ายจริงที่ประสบในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งเร้าให้ผู้เรียนตอบสนอง โดยการแสดงออก ลงมือกระทำหรือผลิต จากกระบวนการทำงานตามที่คาดหวังและผลผลิตที่มีคุณภาพจะเป็นการสะท้อนภาพเพื่อลงข้อสรุปถึงความรู้ ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด น่าพอใจหรือไม่ อยู่ในระดับความสำเร็จได้
สุวิมล ว่องวาณิช (2546 : 7) ให้ความเห็นว่า การประเมินนั้นจะใช้วิธีการแบบใดก็ได้แต่ต้องเชื่อว่าสิ่งที่ผู้เรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการประเมินจึงต้องยึดหลักการเปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้เรียนในแต่ละช่วงเวลา การประเมินตามสภาพจริงเป็นประเภทหนึ่งของการประเมินที่ต้องการให้ผู้เรียนแสดงทักษะและสมรรถภาพ ซึ่งสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน การบูรณาการความรู้และการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งการเป็นจริง
เอมอร จังศิริพรปกรณ์ (2546 : 162) ให้ความเห็นว่า การประเมินสภาพจริงเป็นวิธีการประเมินที่สนับสนุนการเรียนของผู้เรียนที่มีความสนใจ ความถนัดและมีพัฒนาการที่ต่างกัน ให้สามารถพัฒนาและเกิดการเรียนรู้มากที่สุด เต็มตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน เนื่องจากการประเมินในลักษณะนี้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกและแสดงความรู้ ความสามารถ ความรู้สึก และการประพฤติปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

จากความหมายดังกล่าวแสดงถึง ลักษณะของการประเมินตามสภาพจริงที่เป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการที่ใช้ประเมินผู้เรียนอย่างรอบด้านในสถานการณ์ที่ผู้เรียนได้ประสบอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการประเมินเช่นนี้จะสะท้อนให้เห็นภาพที่แท้จริงของผู้เรียนได้ และนำข้อมูลดังกล่าวไปสู่การพัฒนาผู้เรียนต่อไป   
แนวคิดของการประเมินตามสภาพจริง
นักวิชาการด้านการประเมินผล และนักวิชาการด้านการเรียนการสอนได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินผลผู้เรียน ซึ่งในที่นี้ได้นำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานในการประเมินตามสภาพจริง ดังนี้ (ศิริเนตร สุนเชื่อ. 2546 : 54สุวิมล ว่องวาณิช. 2546 : 18 – 19) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยเป้าหมายทางการศึกษา. 2542 : ก – 22)
1. ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความสามารถ ซึ่งมีผลให้ผู้เรียนแต่ละคนมีวิธีเรียนที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง และเนื่องจากความแตกต่างดังกล่าว ครูจึงต้องหาวิธีที่จะให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และแสดงออกถึงผลของการใช้ความสามารถนั้น ๆ ตามลักษณะของแต่ละคน ดังนั้นการประเมินผู้เรียนจึงต้องใช้วิธีการหลากหลายและการประเมินตามสภาพจริงอันจะให้สารสนเทศของผู้เรียนแต่ละคนได้ชัดเจนครบถ้วนและตรงตามความเป็นจริง
2. การประเมินเป็นกระบวนการที่ผสมผสานกับกระบวนการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การช่วยให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ ดังนั้นการประเมิน จึงควรมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับระบบสถานศึกษา หลักสูตรและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม การสอนและต้องให้ความสำคัญต่อการประเมินผลการเรียนรู้ทั้งก่อนเรียนระหว่างทางและหลังการเรียนเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับในการพัฒนาผู้เรียนและการกำหนดกลยุทธ์ในการสอน
3. การประเมินต้องเป็นการประเมินอย่างรอบด้าน อย่างทัดเทียมกันในทุกมิติทั้งการเรียนรู้ ทักษะกระบวนการการคิดวิเคราะห์ ค่านิยมที่พึงประสงค์ โดยใช้กระบวนการที่เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงของผู้เรียน ที่จะนำผลแห่งการเรียนรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริงของชีวิตและสังคม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้เรียนในการประเมินนั้น
4. การประเมินเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้านในแต่ละช่วงอายุ รูปแบบการเรียนรู้ พัฒนาการทางกาย การรับรู้เกี่ยวกับความรู้ทั่ว ๆ ไป ดังนั้นวิธีการประเมินเด็กปฐมวัยจึงควรออกแบบให้มีความเหมาะสมกับลักษณะดังกล่าวของเด็ก ขณะเดียวกันเด็กจะแสดงออกถึงการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ โดยใช้วิธีการสื่อสารด้วยการแสดง ท่าทาง พฤติกรรม และการกระทำมากกว่าการพูดและการเขียน ดังนั้นการประเมินโดยใช้แบบทดสอบข้อเขียน จึงไม่ควรนำมาใช้กับเด็กวัยนี้ เนื่องจากการทดสอบดังกล่าวไม่สามารถแสดงภาวะการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กได้และเด็กยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการทดสอบ

5. การประเมินจะต้องเป็นการสะท้อนจุดประสงค์ของการเรียนรู้และจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา โดยต้องมีการกำหนดความคาดหวังชัดเจนตั้งแต่เริ่มทำการประเมิน ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ปกครอง และผู้เรียนต้องมีส่วนรับรู้จุดประสงค์การเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการประเมินด้วย 
หลักการประเมินตามสภาพจริง
จากแนวคิดในการประเมินดังกล่าวนำมาสู่หลักการประเมินตามสภาพจริง ดังนี้
1. การประเมินต้องประเมินผู้เรียนทั้งองค์ประกอบด้านผลผลิตว่าผู้เรียนรู้อะไร และทำอะไรได้ องค์ประกอบด้านกระบวนการ คือ ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้อย่างไรและองค์ประกอบด้านความก้าวหน้าว่าผู้เรียนมีพัฒนาการจากเดิมเท่าใด
2. ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมในการประเมินโดยเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดข้อบ่งชี้และเกณฑ์และส่วนในการประเมินตนเอง
3. วิธีการประเมินตามสภาพจริงควรอยู่บนพื้นฐานของบริบทที่เด็กมีความคุ้นเคย เพื่อให้เด็กสามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงให้ปรากฏ
4. การประเมินตามสภาพจริงต้องเป็นกระบวนการที่ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน และเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาข้อมูลว่าผู้เรียนได้เรียนรู้อะไร และสามารถทำได้ข้อมูลที่ได้ จะช่วยให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปสร้างสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ให้แก่เด็ก หรือให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เด็กที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ
5. การประเมินเด็กปฐมวัยจะได้จากการสังเกต การบันทึก การสอบถาม และข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้นการบันทึก การเก็บร่องรอยพฤติกรรมและการใช้ทางภาษาขณะที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ และการสะสมชิ้นงาน จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ประกอบการประเมิน ดังนั้นการประเมินจึงมักใช้การปฏิบัติงานเป็นฐาน ผู้เรียนจะได้ประยุกต์ความรู้ ทักษะ มาใช้ในการปฏิบัติ การประเมินจึงอิงข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นการประเมินแบบพหุมิติ จากหลักฐานที่หลากหลาย รวมทั้งจากการแสดง และจัดทำผลงานของผู้เรียน
6. การนำข้อมูลจากการประเมินไปใช้ จะนำไปใช้ใน 2 วัตถุประสงค์ คือ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเด็ก และเป็นการนำข้อมูลมาปรับปรุงการจัดกิจกรรม รวมทั้งเป็นแนวทางสำหรับนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาเด็กและการศึกษา

7. ผู้ปกครองเป็นบุคคลสำคัญในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนและเป็นผู้ที่ต้องการผลของการประเมินมากที่สุด ดังนั้นการประเมินจะต้องให้โอกาสผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วยและต้องมีการรายงานผลให้ผู้ปกครองทราบอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และให้โอกาสผู้ปกครองได้นำผลการรายงานนี้ไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุน และพัฒนาเด็กร่วมกับสถานศึกษา
ขั้นตอนการประเมิน
ขั้นตอนการประเมินตามสภาพจริงเพื่อสนับสนุนพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยประกอบด้วย 4 ขั้นตอนที่ดำเนินอย่างไปอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ประกอบด้วย 1) การวางแผน 2) การจัดระบบข้อมูล 3) การแปลข้อมูลและ 4) การนำผลการประเมินไปใช้ (ศศิลักษณ์ขยันกิจและบุษบงตันติวงศ์2554)



1การวางแผน
       การวางแผนเป็นขั้นตอนแรกซึ่งสำคัญมากในการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กเพื่อให้ทราบว่าจะต้องดำเนินการตระเตรียมข้อมูลอะไรบ้างเก็บข้อมูลอะไรอย่างไรเมื่อไหร่ด้วยวิธีการอย่างไรบ้างครูจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานและกำหนดกรอบของการประเมินดังรายละเอียดต่อไปนี้
          1. 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานโดยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริบทของโรงเรียน ได้แก่ ปรัชญาหลักสูตรมาตรฐานการเรียนรู้กิจวัตรประจำวันกิจกรรมการเรียนรู้จำนวนครูจำนวนเด็กรวมถึงการประกันคุณภาพการศึกษา
           1. 2) กำหนดกรอบของการประเมินโดยกำหนดวัตถุประสงค์ช่วงเวลาการเก็บการบันทึกให้ชัดเจนนอกจากนั้นครูควรกำหนดตารางการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ไว้ตั้งแต่ต้นภาคการศึกษา ได้แก่ วันประชุมครูวันประชุมผู้ปกครองรายบุคคลหรือกลุ่มใหญ่วันที่ส่งจดหมายข่าวถึงผู้ปกครองวันที่จัดบอร์ดแสดงประสบการณ์การเรียนรู้ตามหน่วยการเรียนรู้
2) การจัดระบบข้อมูล
           ครูต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบในการประเมินตามสภาพจริงเพื่อสนับสนุนพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลความสามารถในการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้เป็นทักษะที่ครูต้องฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องการเลือกช่องทางใจในการประเมินควรพิจารณาความถนัดและความสามารถของครูร่วมด้วยอย่างไรก็ตามครูต้องใช้วิธีการหรือช่องทางการประเมินที่หลากหลายในการประเมินเด็กเป็นรายบุคคลเละมีความยุติธรรมในการจัดระบบข้อมูลเกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลการบันทึกข้อมูลและการสรุปข้อมูลรายละเอียดเป็นดังนี้
           2. 1) การเก็บรวบรวมข้อมูล  ครูต้องใช้วิธีการหรือช่องทางการประเมินที่หลากหลายเพื่อประเมินเด็กเป็นรายบุคคลอย่างยุติธรรมโดยพิจารณาความหลากหลายในด้านวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแหล่งข้อมูลและบริบทในการเก็บข้อมูลดังนี้
                  (1) แหล่งข้อมูล ได้แก่ เด็กแต่ละคนกลุ่มเด็กผู้ใหญ่อื่นๆบันทึกต่างๆ
                  (2) วิธีการ ได้แก่ สังเกตเด็กกระตุ้นการตอบสนองจากเด็ก (เช่นสนทนาถามคำถามสัมภาษณ์) เก็บผลงานกระตุ้นการตอบสนองจากผู้ใหญ่อื่นๆ
                   (3) บริบท ได้แก่ กิจกรรมในห้องเรียนกิจกรรมของโรงเรียนกิจวัตรประจำวันช่วงรอยต่อของกิจกรรมกิจกรรมที่ครูขี้แนะกิจกรรมที่เด็กที่เริ่มเองกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม
           2. 2) การบันทึกข้อมูล  การบันทึกข้อมูลต้องกระทำอย่างแม่นยำเป็นกลางและมีความสมบูรณ์ครูต้องบันทึกข้อมูลตามความเป็นจริงโดยไม่ปนความคิดเห็นหรืออารมณ์ความรู้สึกของครูบันทึกพฤติกรรมการแสดงออกท่าทีคำพูดการกระทำที่เกิดขึ้นแยกส่วนกับการตัดสินตีความหรือสงข้อสรุปของครูข้อมูลที่บันทึกไว้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการประเมินตามสภาพจริงซึ่งถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการสื่อสารกับผู้ปกครองครูท่านอื่นตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องนอกจากนั้นการบันทึกข้อมูลอย่างสม่ำเสมอช่วยพัฒนาความสามารถในการสังเกตและการเป็นผู้สอนที่ดีขึ้นอีกทางหนึ่งครูควรหาเวลาในช่วงหลังเลิกเรียนเพื่อบันทึกข้อมูลซึ่งไม่สามารถบันทึกได้ในขณะที่อยู่กับเด็ก
                การบันทึกข้อมูลมีหลากหลายลักษณะ ได้แก่ การบรรยายการนับหรือแจกแจงความถี่และการมาตรประมาณค่าการบันทึกข้อมูลแต่ละแบบมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันครูต้องพิจารณาความถนัดของตนตลอดจนบริบทของชั้นเรียนเพื่อเลือกการบันทึกข้อมูลให้เหมาะสมสามารถเก็บข้อมูลได้จริงและมีความตรงกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กที่ต้องการประเมิน
3) การแปลข้อมูล
         ในการแปลข้อมูลครูต้องคัดเลือกหลักฐานแล้วทำการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กแต่ละวัยรวมทั้งพิจารณาเปรียบเทียบกับมาตรฐานการเรียนรู้ของสถานศึกษาด้วยอย่างไรก็ตามก่อนการแปลผลข้อมูลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้นั้นตรงตามสภาพจริงและน่าเชื่อถือโดยการตรวจสอบดังนี้
มีตัวอย่างมากเพียงพอ
ตัวอย่างเป็นตัวแทนของสิ่งที่ประเมิน
ตัวอย่างมีความสมดุลของแหล่งข้อมูลวิธีการเก็บและบริบทที่หลากหลาย
หลักฐานซึ่งได้มาจากหลายวิธีมีความครอบคลุม
ข้อมูลมีความสม่ำเสมอเชื่อถือได้
หลักฐานสอดคล้องกับความเป็นจริง
ข้อควรพิจารณาในการแปลผลข้อมูล ได้แก่
(1) ตัดสินความก้าวหน้าโดยเปรียบเทียบความสามารถ ณ สองจุดหรือมากกว่า
(2) ใช้ข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมและสรุป
(3) มองหาแบบแผนต่างๆรวมทั้งแบบแผนของข้อผิดพลาดแทนมองหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นปลีกย่อย
(4) พิจารณาเอกลักษณ์และแบบแผนของพัฒนาการพื้นอารมณ์ความสนใจและความถนัดของเด็กและกลุ่มเด็ก
(5) ค้นหาร้านที่ควรใส่ใจ
แปลความและทำความเข้าใจความหมายของข้อค้นพบในการประเมินดังนี้
(1) สร้างหลายสมมุติฐานเกี่ยวกับความหมายที่เป็นไปได้แต่ยังไม่สรุป
(2) วิเคราะห์ความสามารถของเด็กเป็นแถบหรือช่วงกว้าง
(3) พิจารณาอิทธิพลของบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่มีต่อการกระทำของเด็ก
(4) เปรียบเทียบหลักฐานกับความคาดหวังทางพัฒนาการหรือความคาดหวังของหลักสูตรโดยเปรียบเทียบหลักฐานกับลำดับโดยทั่วไปของพัฒนาการปัจจุบันและเปรียบเทียบผลลัพธ์กับเป้าหมายวัตถุประสงค์และมาตรฐานของหลักสูตร
(5) วิเคราะห์ข้อมูลหาร่องรอยกระบวนการเรียนรู้
          (5. 1) สำรวจกระบวนการคิดพื้นฐาน
          (5.2) วิเคราะห์แบบแผนข้อผิดพลาด ได้แก่ (ก) แบบแผนข้อผิดพลาดที่เป็นระบบ         (Systematic error patterns) (ข) แบบแผนข้อผิดพลาดที่ไม่เป็นระบบ (random error patterns) (ค) แบบแผนข้อผิดพลาดแบบกระโดด (skip error patterns)
           (5. 3) มองหาความรู้เดิมกับความสัมพันธ์ที่มีต่อความเข้าใจและความสามารถปัจจุบัน ได้แก่ (ก) การถ่ายโอนเชิงลบ (negative transfer) เกิดเมื่อการเรียนรู้เดิมเข้ามาขัดขวางการเรียนรู้ใหม่ (ข) การถ่ายโอนเชิงบวก (positive transfer) เกิดเมื่อการเรียนรู้เดิมช่วยการเรียนรู้ใหม่
          (5. 4) วิเคราะห์คำอธิบายและคำบรรยายของเด็ก
          (5. 5) มองหาข้อแตกต่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
4) การนำผลการประเมินไปใช้
         การประเมินช่วยกำหนดสถานภาพและความก้าวหน้าในการเจริญเติบโตพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กข้อมูลที่แปลผลได้จะถูกนำมาใช้ดังนี้
         (4. 1) วางแผนการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กในชั้นเรียน
         (4. 2) ส่งเสริมเด็กรายบุคคลหรือกลุ่มใหญ่
         (4. 3) ปรับเปลี่ยนแผนหรือหลักสูตร
         (4. 4) สื่อสารข้อมูลการประเมินกับเด็กผู้ปกครองหรือนักวิชาชีพอื่นๆตลอดจนคณะกรรมการทุน  คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพและคณะที่ปรึกษา
การตัดสินใจเรื่องที่จะประเมินอาจได้รับอิทธิพลจากความต้องการข้อมูลพัฒนาการด้านหลักๆเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโปรแกรมความจำเป็นที่จะรู้บางเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของเด็กแต่ละคนรวมไปถึงปัญหาและข้อห่วงใย

ในการจัดระบบหลักฐานเพื่อการสื่อสารข้อมูลการประเมินกับผู้ปกครองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถจัดทำได้ในหลากหลายแนวทาง ได้แก่ สมุดสื่อสารระหว่างบ้านกับโรงเรียนสมุดรายงานพัฒนาการเด็กจดหมายข่าวบอร์ดสะท้อนความคิดของผู้ปกครองและครูแฟ้มสะสมงานของเด็กรายบุคคลบอร์ดสะท้อนการเรียนรู้ของเด็ก
เครื่องมือประเมินผลตามสภาพจริง
 เครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะคือเครื่องมือประเมินผลเฉพาะเรื่อง ได้แก่ แบบทดสอบและแบบประเมินตามสภาพจริงแบบทดสอบเป็นแบบประเมินที่ใช้วัดความสามารถของเด็กเฉพาะเรื่องมีอย่างน้อย 4 ลักษณะคือ
1) แบบทดสอบแบบเลือกตอบซึ่งข้อคำถามและตัวเลือกจะเป็นภาพ
2)แบบทดสอบสถานการณ์เป็นแบบทดสอบที่ตั้งสถานการณ์ขึ้นแล้วให้เด็กทดลองปฏิบัติการประเมินแบบนี้ครูจะใช้การสังเกตเป็นตัวร่วมในการประเมิน
3)แบบประเมินความสามารถในการสื่อภาษาเป็นแบบทดสอบที่ให้เด็กเล่าตามภาพโดยมีข้อกำหนดการประเมินจากครู
4) แบบประเมินความคล่องเช่นความคล่องทางการพูดการเขียนการอ่านการเข้าสังคมหรือการปฏิบัติก็เป็นแบบสังเกตที่มีกำหนดเวลาและวิธีการแบบทดสอบที่ใช้กับเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่เป็นภาพหรือการปฏิบัติจริงที่เด็กสามารถรับรู้และเข้าใจได้
แบบประเมินตามสภาพจริงการประเมินตามสภาพจริง เป็นการประเมินความก้าวหน้าและพัฒนาการของผู้เรียนด้วยวิธีการหลากหลายด้วยการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเป็นกระบวนการเพื่อวิเคราะห์ความก้าวหน้าของผู้เรียนเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินผลการเรียน โดยผู้สอนผู้เรียนและผู้ปกครองร่วมมือกันเช่น การใช้การสะสมผลงาน (portfolio) เป็นเครื่องมือในการประเมินตามสภาพจริง (วิชัยวงษ์ใหญ่2543: 16) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินตามสภาพจริงประกอบด้วยชิ้นงานที่ครูต้องสะสม ซึ่งอาจเป็นผลงานจากฝีมือของเด็กเองหรือผลงานที่มาจากการสังเกตของครูวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ได้แก่
1. การสังเกตเป็นวิธีการหลักของการประเมินตามสภาพจริงครูจะบันทึกสิ่งที่สังเกตต่าง ๆ ที่ได้จากการสังเกตเด็กแล้วบันทึกที่ครูเป็นผู้เขียนและรวบรวมข้อมูลสำหรับประเมินภาพเด็กส่วนใหญ่ใช้ในการประเมินการปฏิบัติงานของเด็กแบบบันทึกที่ครูใช้นี้ได้แก่
บันทึกพฤติกรรม (Anecdotal record) เป็นบันทึกที่ครูจดกิริยาการกระทำการแสดงออกของเด็กในเรื่องที่ครูต้องการประเมินซึ่งจะเป็นเรื่อง ๆ ตามจุดประสงค์การสังเกต
บันทึกรายเรื่อง (Jourmal) เป็นบันทึกข้อความรู้หรือการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละเรื่องที่ผ่านไปส่วนใหญ่จะบันทึกวันต่อวัน ดังนั้นจึงอาจพบมีผู้ใช้คำว่าบันทึกประจำวัน : บันทึกการปฏิบัติ (Logs) บันทึกการปฏิบัติหรือพฤติกรรมของเด็กแต่ละช่วงเวลาตามตารางที่กำหนด
แบบตรวจรายการ (Checklist) เป็นแบบประเมินอีกอย่างหนึ่งที่ครูใช้สำหรับการสังเกตการปฏิบัติของเด็กตามขั้นตอนกระบวนการปฏิบัติงานในรายละเอียดแต่ละขั้นเป็นรายข้อ
มาตรการให้คะแนน (Rubric) เป็นแบบสังเกตที่มีการกำหนดพฤติกรรมและตีค่าพฤติกรรมเป็นลำดับคะแนนครูใช้สำหรับสังเกตการแสดงออกของเด็กและตีค่าคะแนนตามมาตรฐานที่กำหนด
2. การสะท้อนผลงานสะสมการสะสมผลงาน (portfolio) เป็นการรวบรวมตัวอย่างชิ้นงานที่ดีที่สุดของเด็กในแต่ละช่วงการเรียนมาเพื่อสะท้อนภาพการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กว่ามีการก้าวหน้าอย่างไรนับตั้งแต่เริ่มเรียนจนถึงปัจจุบัน (Elby and Kujawa, 1994: 11) การประเมินด้วยการสะสมผลงานนี้เป็นการประเมินที่ผลลัพธ์ที่ครูต้องพิจารณาย้อนกลับเพื่อสะท้อนภาพให้เห็นถึงความสามารถของเด็กและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
3.การสัมภาษณ์และสอบถามเป็นอีกวิธีหนึ่งของการประเมินที่จะช่วยให้ครูทราบข้อเท็จจริงของเด็กวิธีการอาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งดังนี้การประชุมปรึกษาระหว่างครูกับครูหรือครูกับผู้ปกครอง
การสัมภาษณ์ครูหรือผู้ปกครอง
การสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครองมีหลายวิธีการโดยหลักการคือการสื่อสารให้ผู้ปกครองโต้ตอบกลับมา
เทคนิควิธีที่เหมาะสมในการประเมินพัฒนาการ 
การประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยควรเป็นการประเมินอย่างไม่เป็นทางการ โดยวิธีการที่เหมาะสมในการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ได้แก่
1. เก็บรวบรวมข้อมูล ครูควรวางแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลควบคู่กับการจัดประสบการณ์ โดยเป็นการวางแผนล่วงหน้า ทั้งนี้ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมีดังนี้
1.1 การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมหรือคำพูดของเด็ก ครูควรใช้เวลาในการสังเกตและเฝ้าดูเด็ก เพื่อให้ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีจุดเด่น ความต้องการ ความสนใจ และต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด ทั้งนี้ ครูต้องกำหนดเวลา แนวทางที่ชัดเจน และจดบันทึกไว้เพื่อนำมาใช้ในวิเคราะห์และสรุป


1.2 การสนทนากับเด็ก ครูสามารถใช้การสนทนากับเด็กได้ทั้งแบบรายบุคคลและเป็นกลุ่มอย่างสอดคล้องกับกิจวัตรประจำวัน เพื่อประเมินความสามารถในการแสดงความคิดเห็น พัฒนาการด้านการใช้ภาษา ฯลฯ เช่น เมื่อครูเล่านิทานให้เด็กฟังแล้ว ครูอาจถามคำถามให้เด็กแสดงความคิดเห็นจากเรื่องที่ฟัง เพื่อให้รู้ความคิดของเด็ก ทั้งนี้ ครูควรจดบันทึกคำพูดของเด็กไว้เพื่อการวิเคราะห์และปรับการจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมต่อไป ในกรณีที่ต้องการสนทนากับเด็กเป็นรายบุคคล ครูควรพูดคุยในสภาวะที่เหมาะสม ไม่ทำให้เด็กเครียดหรือเกิดความวิตกกังวล
1.3 การเก็บตัวอย่างผลงานที่แสดงความก้าวหน้าของเด็ก เป็นวิธีการที่ครูรวบรวมและจัดระบบตัวอย่างผลงานที่แสดงความก้าวหน้าของเด็กจากชิ้นงานที่เด็กสร้างขึ้นในกิจวัตรประจำวัน ครูควรกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการเก็บรวบรวมผลงาน เช่น เก็บตัวอย่างผลงานการตัดกระดาษที่แสดงการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการด้านการตัดกระดาษของเด็กเดือนละ 1 ชิ้นงาน แล้วนำมาจัดรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เป็นต้น การเก็บสะสมผลงานอย่างต่อเนื่องนี้ ครูต้องประเมินว่าผลงานแต่ละชิ้นแสดงความก้าวหน้าของเด็กอย่างไร ไม่ใช่การนำมาเก็บรวมกันไว้เฉยๆ ครูอาจให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกและจัดเก็บผลงาน และครูสามารถนำผลงานที่จัดรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบมาใช้ในการสื่อสารกับผู้ปกครองให้รับทราบเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเด็กด้วย
วิธีการรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กที่ดีต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย ไม่ใช่วิธีใดวิธีหนึ่ง โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น พ่อแม่ หรือครูผู้ช่วยมีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อมูลด้วย เพราะวิธีการแต่ละวิธีจะมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน มีความเหมาะสมกับลักษณะของข้อมูลที่แตกต่างกัน โดยวิธีการที่นำเสนอข้างต้นเป็นวิธีที่ครูต้องฝึกฝนจนมีทักษะในการสังเกตเด็ก พูดคุยกับเด็กและพ่อแม่อย่าง
เหมาะสม รวมทั้งมีความไวต่อสิ่งที่ควรบันทึกหรือเก็บตัวอย่าง หากครูมีทักษะเหล่านี้ก็จะทำให้การประเมินตรงตามสภาพจริงยิ่งขึ้น
2. วิเคราะห์และจัดทำบันทึกข้อมูลของเด็ก ครูควรนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้มาวิเคราะห์ และจัดทำบันทึกข้อมูลของเด็ก ทั้งในลักษณะของบันทึกข้อมูลเด็กรายบุคคล และบันทึกข้อมูลเด็กทั้งชั้นเรียน ดังนี้
    2.1 บันทึกข้อมูลเด็กรายบุคคล การทำบันทึกข้อมูลเด็กรายบุคคลจะช่วยให้ครูรู้จักความสามารถที่แท้จริงของเด็ก ทำให้ครูติดตามความก้าวหน้าของเด็กได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยให้ครูประเมินเด็กอย่างครอบคลุมทุกรายการประเมิน ครูที่ทำบันทึกข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคลจะสามารถช่วยส่งเสริมความสามารถของเด็ก หรือให้ความช่วยเหลือเด็กได้อย่างเหมาะสม
    2.2 บันทึกข้อมูลเด็กทั้งชั้นเรียน การทำบันทึกข้อมูลเด็กทั้งชั้นเรียนช่วยให้ครูรู้ว่าเด็กในห้องเรียนที่รับผิดชอบมีความสามารถหรือมีพัฒนาการในแต่ละด้านเป็นอย่างไร ส่งผลให้ครูสามารถออกแบบการจัดประสบการณ์ได้เหมาะสมกับเด็กในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของเด็กทั้งชั้นเรียน การสรุปเช่นนี้ควรทำเป็นระยะอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
       ทั้งนี้ การประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดีต้องผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับการจัดประสบการณ์ การประเมินช่วยให้ครูทราบพัฒนาการของเด็ก เข้าใจเด็ก และรู้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะสามารถส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเต็มที่ ครูปฐมวัยจึงควรศึกษาวิธีการ เครื่องมือ และเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยวางแผนการประเมินให้เหมาะสมใช้ผลการประเมินในการส่งเสริมพัฒนา การและการเรียนรู้ของเด็ก การประเมินจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ช่วยทำให้ครูสามารถจัดประสบการณ์อย่างมีคุณภาพ



No comments:

Post a Comment